😱
😲
😨มะเร็งช่องปาก
😷
😞
😒
เป็นมะเร็งที่พบได้มากในผู้ป่วยช่วงวัยกลางคน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี แต่ก็พบได้ในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี
👄อาการและอาการแสดงของมะเร็งช่องปาก
อาการที่พบได้บ่อย เช่น เกิดก้อนเนื้อขึ้นตามตำแหน่งต่าง ๆ ภายในช่องปาก อาจลุกลามเป็นแผลหรือไม่ก็ได้ แผลอาจมีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ หรืออาจเป็นแผลลึกเรื้อรัง แผลจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หายด้วยการใส่ยาต่าง ๆ หรือการรักษาวิธีทั่ว ๆ ไป อาจมีเลือดออกได้ง่าย และถ้ามีการติดเชื้อด้วยก็จะมีกลิ่นเหม็น นอกจากนั้น ถ้าเป็นโรคในระยะลุกลาม จะคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอได้ร่วมด้วย เป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตโดยไม่เจ็บ และมักอยู่ด้านเดียวกันกับก้อนเนื้อ
😒 สาเหตุของการเกิดมะเร็งช่องปาก
สูบบุหรี่จัด สูบกล้อง บริโภคเมี่ยง หมาก ยาฉุน ยาเส้น เป็นประจำ ดื่มสุราจัด อาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสชนิดเอชพีวี (HPV) มีความสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อของเยื่อบุช่องปาก ซึ่งจะทำให้เยื่อบุช่องปากมีลักษณะเป็นฝ้าขาว หรือเป็นปื้นสีแดง
😈ความรุนแรงของโรค จะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ที่สำคัญได้แก่
– ระยะของโรค ระยะสูงขึ้นความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น
– สุขภาพทั่ว ๆ ไป ถ้าแข็งแรง การรักษาจะได้ผลดีกว่า
– โรคร่วมต่าง ๆ เช่น เบาหวาน โรคไต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา
– อายุ ในผู้ป่วยสูงอายุ มักทนการรักษาต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ดี
😩ระยะของโรค
มะเร็งช่องปากแบ่งระยะออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดก้อนเล็ก ยังไม่ลุกลาม
ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามเข้า อวัยวะข้างเคียง
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น และลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงมากขึ้น และมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงมากขึ้น ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น อ้าปากไม่ได้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอมีขนาดโตมาก หรืออาจมีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น
อนึ่ง ช่องปากประกอบไปด้วยอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้ คือริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น เนื้อเยื่อโดยรอบลิ้นสองข้าง และด้านหน้าใต้ลิ้น มะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีสาเหตุ อาการ อาการแสดง การดำเนินโรค วิธีวินิจฉัย ระยะโรค การรักษา และความรุนแรงของโรคเหมือนกัน
💋การตรวจวินิจฉัยโรค
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะของช่องปาก หลังจากนั้นจะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา และเมื่อวินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมในเรื่องเลือด เพื่อดูการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต และเบาหวาน ตรวจในเรื่องปัสสาวะ เพื่อดูโรคร่วมอื่น ๆ ของโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำการเอกซเรย์ปอด เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคที่ปอด และอาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามข้อบ่งชี้อื่น ๆ เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ตับ เพื่อดูการกระจายของโรคไปที่ตับ หรือการตรวจเพิ่มเติมทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะทำตามข้อบ่งชี้ไม่เหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละราย
🏥 วิธีการรักษา
มะเร็งช่องปากมีวิธีการรักษาโดยหลัก ดังนี้
– การผ่าตัด มักใช้รักษาโรคในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 หรือเริ่มต้นระยะที่ 3 ที่ต่อมน้ำเหลืองยังมีขนาดเล็ก หลังผ่าตัดแพทย์จะตรวจเนื้อที่ผ่าตัดออกไปทางพยาธิ ถ้ามีข้อบ่งชี้ก็จะให้การรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา และอาจร่วมกับเคมีบำบัดด้วย
– รังสีรักษา เป็นวิธีการรักษาที่อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือใช้วิธีรังสีรักษาร่วมกับการทำเคมีบำบัด หรือใช้รังสีรักษาร่วมกับการผ่าตัดและทำเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ในแต่ละราย ซึ่งการฉายรังสี มักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-7 สัปดาห์ ฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน และอาจมีการรักษาทางรังสีโดยการใส่แร่ ซึ่งจะมีข้อบ่งชี้เฉพาะเจาะจง รักษาได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ซึ่งแพทย์จะประเมินจากข้อบ่งชี้เช่นกัน
– เคมีบำบัด เป็นการรักษาที่มักใช้ร่วมกับการผ่าตัดและรังสีรักษา แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดและทำรังสีรักษาไม่ได้ ก็อาจใช้เคมีบำบัดเพียงวิธีการเดียว ซึ่งมักเป็นกรณีการรักษาเพื่อประคับประคอง และเช่นเดียวกับวิธีการรักษาอื่น ๆ การใช้เคมีบำบัดก็ต้องมีข้อบ่งชี้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน
✔การตรวจรักษาเพื่อติดตามผลการรักษา
ภายหลังรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ โดยในปีแรกหลังครบการรักษา แพทย์จะนัดทุก 1-2 เดือน ในปีที่ 2-3 อาจนัดทุก 2-3 เดือน ปีที่ 3-5 อาจนัดทุก 3-6 เดือน และภายหลัง 5 ปี ไปแล้วมักนัดทุก 6-12 เดือน
ในการมาพบแพทย์ทุกครั้ง แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ แตกต่างในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์พร้อมญาติสายตรง หรือผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อร่วมกันพูดคุยปรึกษากับแพทย์ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม